นิยามสำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม  
 
      สำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยการสร้างนวัตกรรม ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมีมวลวิกฤต (Critical Mass) ของบุคลากรและกิจกรรมวิจัยพัฒนาของเอกชน มีพื้นที่ห้องปฏิบัติการและเครื่องมือคุณภาพสูง สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตลอดจนบริการที่สนับสนุนเพื่อรองรับการดำเนินชีวิตและเพิ่มพูนผลิตภาพของบุคลากรซึ่งทำางานอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์  
 
     สำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม มีการบริหารจัดการให้เกิดการเชื่อมโยงหน่วยงานวิจัยเอกชน สถาบันวิจัยของรัฐ และ/หรือ มหาวิทยาลัย เข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงงานวิจัยกับความต้องการของตลาด ด้วยการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้และ เทคโนโลยี และการจับคู่ธุรกิจ นอกจากนี้ ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมยังมีการส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยี โดยอาจผ่านกระบวนการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (Technology Business Incubation) หรือกระบวนการจัดตั้งหน่วยงานใหม่แยกออกจากหน่วยงานเดิม (spin-off) หรือกระบวนการอื่นๆ เพื่อทำให้เกิดธุรกิจซึ่งใช้นวัตกรรมเป็นฐาน เพิ่มขึ้นในประเทศอย่างต่อเนื่อง  
 
   
 
ที่มา: ประยุกต์จากนิยามอุทยานวิทยาศาสตร์โดยสมาคมอุทยานวิทยาศาสตร์นานาชาติ (International Association of Science Parks, IASP)  
 
   
วิสัยทัศน์  
 
     สำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เป็นศูนย์กลางทางวิชาการในการส่งเสริม สภาพความเป็นอยู่ของชุมชนพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ดีขึ้นโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยยกระดับศักยภาพของการผลิต ให้สามารถผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพมาตรฐานและมีคุณค่าของผลิตภัณฑ์สูงขึ้นรวมทั้งเพิ่มสมรรถนะ ในการแข่งขันและเกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน  
 
   
วัตถุประสงค์  
 
1. ป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นยุทธศาสตร์ของภูมิภาค และเป็นหนึ่งในแหล่งพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
2. เป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดเทคโนโลยี (technology transfer) รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มมูลค่า (value add) ให้กับสินค้าและบริการ
3. เป็นแหล่งพัฒนาผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ (technology commercialization) รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถต่อยอดเพิ่มเติมในเชิงธุรกิจได้
4. เพื่อใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการสนับสนุนคลัสเตอร์เชิงยุทธศาสตร์ของภูมิภาค เช่น Information Technology, Biotechnology หรือ Automotive Industrial Clusters เป็นต้น ทั้งนี้ สำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ฯจะเป็นแหล่งรวมของการทำ R&D เพื่อสนับสนุนคลัสเตอร์ของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีการต่อยอดงานวิจัย เกิดความร่วมมือและการแข่งขันอย่างสร้างสรรค์ และช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีในภาคเอกชนมากขึ้น
 
   
พันธกิจ  
 
1. บริการร่วมวิจัยและพัฒนา / รับจ้างวิจัยและพัฒนา โดยความร่วมมืออาจอยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น เป็นแบบไตรภาคีระหว่างมหาวิทยาลัย-ภาครัฐ-และภาคเอกชนโดยมีการใช้บุคลากรหรือผู้เชี่ยวชาญ ของภาคเอกชนร่วมกับสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยและพัฒนาของรัฐ หรือ เป็นการจ้างหน่วยงานวิจัยของรัฐให้ทำการวิจัยและพัฒนาตามความต้องการของภาคเอกชนก็ได้
2. การให้บริการจัดหาผู้เชี่ยวชาญ และการบริการให้ปรึกษาทางเทคนิค เป็นการจัดหาผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมและสอดคล้องต่อลักษณะ ของกลุ่มอุตสาหกรรมในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และขีดความสามารถทางนวัตกรรมและทางเทคโนโลยี (Innovation and Technology Capability) โดยมุ่งให้มีการไต่ระดับความสามารถทางเทคโนโลยีของภาคการผลิตสูงขึ้น จากระดับที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor Intensive) ไปสู่การใช้ทักษะเข้มข้น (Skill Intensive) การใช้เทคโนโลยีเข้มข้น (Technology Intensive) และสู่การทําวิจัยและพัฒนาเข้มข้น (R&D Intensive) ตามลำดับ
3. การให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ ได้แก่ การให้บริการวิเคราะห์ทดสอบในเชิงเทคนิคซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนากระบวนการผลิต และการพัฒนาคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ อันจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ในภูมิภาค
4. การถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) โดยการจัดทำฐานข้อมูลโครงการวิจัยที่พร้อมที่จะออกสู่เชิงพาณิชย์หรือพร้อมนำไปดำเนินการวิจัยต่อยอ ตลอดจนการจัดให้มีสถานที่สำหรับการอบรมและสาธิตเทคโนโลยี (Technology Demonstration Area) ทั้งนี้มุ่งให้เกิดการนำเทคโนโลยีไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ตลอดจนนำเทคโนโลยีไปพัฒนาชุมชน โดยการผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่นทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น (OTOP) ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีการออกแบบให้ดึงดูดและปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น
5. การให้บริการในด้านสถานที่ อุปกรณ์และเครื่องมือวิจัย เพื่อให้เอกชนสามารถเข้าถึงเครื่องมือ อุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำวิจัยและพัฒนา โดยการใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Shared Resources) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการลงทุนทางด้านเครื่องมือดังกล่าว
6. การพัฒนากำลังคน โดยกิจกรรมนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ในส่วนแรก สำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยเข้าด้วยกัน โดยการวางแผนร่วมกันเพื่อให้มหาวิทยาลัยผลิตนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน สำหรับส่วนที่ 2 นั้น เป็นการพัฒนาบุคลากรที่จำเป็นในการบริหารจัดการสำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ โดยการร่วมมือกับ สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวของประเทศที่มีประสบการณ์ในการบริหารอุทยานวิทยาศาสตร์ และมีกลไกความร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนาบุคลากรดังกล่าว อาทิ โครงการความร่วมมือกับประเทศเยอรมันผ่านทางหน่วยงาน InWEnt (Internationale Weiterbildung and Entwicklung (Capacity Building International)), Germany ภายใต้โครงการ “Management of Technology and Innovation in South-East Asia” โดยการฝึกอบรมบุคลากรของประเทศไทยให้สามารถจัดตั้งและบริหาร Technology Business Incubator (หน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี) 3 – 4 แห่ง ในประเทศได้ภายในเวลาประมาณ 2 ปี อันเป็นปัจจัยที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ และ/หรือ หน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี
 
     
สำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม แบ่งการทำงานตามความรับผิดชอบออกเป็น 3 หน่วย คือ  
 
1.หน่วยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค
     หน่วยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค : เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประสานงาน และดำเนินกิจกรรมตามนโยบายการสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ประกอบด้วย 3 งาน
   งานบ่มเพาะวิสาหกิจและนวัตกรรม
   งานบริการทรัพย์สินทางปัญญา
   งานบริการห้องปฏิบัติการ
   
  อ่านข้อมูลเพิ่มเติม <Click>
  ดาวน์โหลดแบบฟอร์มต่าง ๆ < Click >
 
     
 
2.หน่วยพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม
     หน่วยพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม : เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือและความต้องการระหว่างภาคอุตสาหกรรม กับมหาวิทยาลัย หรือระหว่างภาคเอกชนกับนักวิจัย/ผู้เชี่ยวชาญ ภายใต้ความร่วมมือในมิติต่างๆ ทั้งความร่วมมือด้านการวิจัย การปรับแปลง และถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนความต้องการทางด้านเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการไทย โดยทำการเสาะแสวงหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากในและต่างประเทศ โดยมีรูปแบบการให้บริการหลายรูปแบบ เช่น บริการจัดคู่เจรจาธุรกิจเทคโนโลยี และบริการเป็นที่ปรึกษา เป็นต้น
 
     
 
3. หน่วยวิจัยและพัฒนา.
     หน่วยวิจัยและพัฒนา : เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือด้านการทำวิจัย การให้คำปรึกษาด้านเทคนิคและโรงงานต้นแบบ โดยเน้นอุตสาหกรรมเกษตร ในการทดลองผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงการใช้เครื่องมือ เครื่องจักรที่เกี่ยวกับการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรให้แก่ภาคเอกชน เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพด้านธุรกิจ รวมทั้งการยกระดับเทคโนโลยีการผลิต โดยการเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้บริการเทคโนโลยีกับผู้ใช้เทคโนโลยี การจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค เพื่อให้ความช่วยเหลือด้าน การวิจัยและพัฒนาเข้าไปให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาในโรงงาน