หลักสูตรห้องเรียนวิทยาศาสตร์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย

1. ความนำ

หลักสูตรห้องเรียนวิทยาศาสตร์ฉบับนี้ เป็นหลักสูตรใหม่ที่จัดทำขึ้น ภายใต้โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) โดย การนำหลักสูตรของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พุทธศักราช 2548 เป็นต้นแบบ โดยหลักสูตรจะประกอบด้วยรายวิชาต่างๆ ใน 8 กลุ่มสาระ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน รายวิชาต่างๆ ถูกแบ่งออกเป็น 2 หมวดได้แก่ 1. รายวิชาพื้นฐาน 2. รายวิชาเพิ่มเติม เพื่อความยืดหยุ่นของหลักสูตร ให้เหมาะสมสำหรับนักเรียนในรูปแบบเฉพาะตัว ทันต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของวิทยาการต่างๆทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในรายวิชาเพิ่มเติมยังจัดออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่ 1. กลุ่มรายวิชาเพิ่มเติม ที่บังคับเลือก 2. กลุ่มรายวิชาเพิ่มเติม ที่เลือกเสรี ในกลุ่มรายวิชาเพิ่มเติม(เลือกเสรี) นี้นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจ ความถนัด และศักยภาพของตัวเอง นอกจากนั้นหลักสูตรนี้ได้เน้นการเรียนการสอน ด้านปฏิบัติการ เพื่อให้นักเรียนได้มีทักษะ ประสบการณ์ และการคิดวิเคราะห์ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยได้จัดให้มีวิชาปฏิบัติการฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา เป็นรายวิชาเพิ่มเติมที่บังคับเลือก สำหรับเกณฑ์ต่างๆ ในการจบช่วงชั้นได้ยึดถือตามระเบียบ และแนวปฏิบัติของโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย

 2. หลักการเหตุผลของการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์

การสร้างกำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ จำเป็นต้องเริ่มต้นตั้งแต่ระดับเยาวชน โดยคัดสรรผู้เรียนที่มีศักยภาพสูง เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนาอย่างถูกทางและเหมาะสมโดยส่งเสริมให้อัจฉริยภาพที่มีอยู่เบ่งบานอย่างเต็มที่ และได้รับการพัฒนาเป็นนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ อันจะเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการเพิ่มผลิตภาพ  และสร้างนวัตกรรมในภาคการผลิตและบริการต่อไปในอนาคต  ปัจจุบัน ประเทศไทยมีโครงการจำนวนมากพอสมควรที่รองรับการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนักเรียน แต่โครงการที่ส่งเสริมให้เป็นนักวิจัยอย่างครบวงจรยังมีน้อยมาก  มีโรงเรียนวิทยาศาสตร์เพียงแห่งเดียวในประเทศ คือ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ มีห้องเรียนวิทยาศาสตร์ที่จัดกิจกรรมส่งเสริมประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ยังทำได้ในปริมาณที่น้อยมาก ไม่เพียงพอต่อการสร้างฐานกำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เพิ่มขึ้นจนถึงระดับที่เป็นมวลวิกฤต (critical mass) ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษาที่เฉพาะเจาะจงเพื่อรองรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเริ่มตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ได้เล็งเห็นความจำเป็นของการสร้างฐานกำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ จึงได้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นโดยร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนานักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากผู้มีความสามารถพิเศษให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  1. วัตถุประสงค์

3.1  สนับสนุนการสร้างฐานนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีศักยภาพ โดยเริ่มบ่มเพาะตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนถึงระดับอุดมศึกษา โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
3.2  สนับสนุนการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และขยายฐานการศึกษาสำหรับนักเรียนกลุ่มนี้ออกไปในวงกว้าง
3.3  สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

  1. วิสัยทัศน์ และพันธกิจ

วิสัยทัศน์
         ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย  โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มุ่งจัดการศึกษาให้มีลักษณะเฉพาะและเหมาะสมสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ระดับมัธยมศึกษาในช่วงชั้นที่ 4 ให้มีทักษะกระบวนการคิดของการเป็นนักวิจัย และนักประดิษฐ์ที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งสุขภาพพลานามัยที่ดี  มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่ดีงาม

พันธกิจ
1. พัฒนาห้องเรียนวิทยาศาสตร์ต้นแบบในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยที่มี การบริหารจัดการการจัดการเรียนการสอน และการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัย
2. จัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับมัธยมศึกษา ช่วงชั้นที่ 4
3. ร่วมมือ ส่งเสริม และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการพัฒนาความรู้ความสามารถเยาวชนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

5. หลักการของหลักสูตร

5.1   ครอบคลุมหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของกระทรวงศึกษาธิการ
5.2   เป็นหลักสูตรที่เน้นการพัฒนานักเรียนทั้งด้านวิชาการ  สุขอนามัย  คุณธรรม จริยธรรม และด้านศิลปวัฒนธรรม
5.3   เน้นการจัดหลักสูตรตามความสนใจ ความถนัด และศักยภาพของนักเรียนเป็นรายบุคคล
5.4   จัดให้มีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่หลากหลายทั้งภายใน และภายนอกสถานศึกษา
5.5   เน้นให้มีทักษะ ประสบการณ์ และการคิดวิเคราะห์ในด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมทั้งการทำและนำเสนอโครงงาน