พันธกิจสัมพันธ์ คืออะไร
         พันธกิจสัมพันธ์ (Engagement)  หมายถึง โครงการหรือกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยกับองค์กรชุมชนร่วมคิดและร่วมทำกิจกรรมร่วมกัน มีการใช้ความรู้หรือเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เกิดประโยชน์ร่วมกันและเกิดผลกระทบที่ดีต่อสังคมที่ประเมินได้ ตามหลัก 4 ประการ ได้แก่

-    Partnerships คือ ต้องมีการร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมทุน จากทุกฝ่าย
-    Mutual benefits คือ ต้องก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน
-    Scholarships คือ ต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน
-    Measurable Social Impact คือ ก่อให้เกิดผลดีแก่สังคมที่วัดได้

         มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาขั้นสูงสุด ยึดหลักอัตตาภิบาล 3 ประการคือ มีความเป็นอิสระ(Autonomy) มีเสรีภาพทางวิชาการ (Academic Freedom) และมีความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) การทำพันธกิจสัมพันธ์จะทำให้มหาวิทยาลัยได้ตระหนักในความรับผิดชอบและมีส่วนร่วมกับสังคม มีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาพื้นที่ สังคมและชุมชน ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่รับผิดชอบต่อสังคม (University Social Responsibility) ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายทั้งองค์กรชุมชนและตัวสถาบันอุดมศึกษาเอง การทำพันธกิจสัมพันธ์ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2405 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นการนำภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการอยู่แล้ว เข้าไปดำเนินการร่วมกับองค์กรชุมชนมากขึ้นและมีองค์ประกอบครบตามนิยามดังกล่าว เช่น การบริการทางวิชาการแก่สังคม หรือ Academic Service ให้แก่สังคม หากนำผลงานไปขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการจะใช้คำว่า “ตำแหน่งวิชาการรับใช้สังคม” นอกจากนี้แต่ละวิชาที่เปิดสอนสามารถนำไปรับใช้สังคมได้ ซึ่งจะทำให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทในสังคมและชุมชนมากขึ้น และมีพันธกิจสัมพันธ์กับชุมชนที่มีผลกระทบที่ดีอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง
         ปัจจุบันมหาวิทยาลัยหลายแห่งในต่างประเทศเริ่มตื่นตัวและดำเนินพันธกิจสัมพันธ์มากขึ้น ทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรปและในเอเชียแปซิฟิก ตัวอย่างเช่นในประเทศออสเตรเลียมีการรวมตัวกันของมหาวิทยาลัยที่ดำเนินพันธกิจสัมพันธ์ โดยจัดตั้งสมาคม Engagement Australia ขึ้น เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำพันธกิจสัมพันธ์ของสมาชิก ประเทศไทยเองได้เริ่มมีการประชุมร่วมกันของมหาวิทยาลัยที่ดำเนินพันธกิจสัมพันธ์หรือเริ่มดำเนินพันธกิจสัมพันธ์ และร่วมกันจัดตั้งเครือข่าย Engagement Thailand ขึ้นเช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 โดยมีสถาบันคลังสมองแห่งชาติเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงาน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเจ้าร่วมเป็นสมาชิก Engagement Thailand ด้วย

เกี่ยวกับโครงการจัดตั้งส่วนพันธกิจสัมพันธ์กับองค์กรชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (EngageU)
         มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้เล็งเห็นความสำคัญของการช่วยเหลือและรับผิดชอบสังคมโดยได้กำหนดบทบาทของตนให้เป็นสถาบันการศึกษาคู่เคียงสังคม และดำเนินกิจกรรมรับใช้สังคมมาโดยตลอด ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 มหาวิทยาลัยได้ประกาศนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยมีการดำเนินการพันธกิจสัมพันธ์ให้มากขึ้น โดยมหาวิทยาลัยได้ปรับโครงสร้างการบริหารงานใหม่ ได้กำหนดให้มีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์กับองค์กรชุมชน โดยมีรองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์กับองค์กรชุมชนเป็นผู้กำกับดูแลเชิงนโยบาย และกำหนดให้มีโครงการจัดตั้งส่วนพันธกิจสัมพันธ์กับองค์กรชุมชนขึ้น ภายใต้การกำกับดูแลของ เทคโนธานี เป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่ประสาน ส่งเสริมการดำเนินพันธกิจสัมพันธ์ของหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัย และสอดคล้องกับหลัก “รวมบริการประสานภารกิจ” เพื่อให้การดำเนินพันธกิจสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยเป็นรูปธรรม มีระเบียบแบบแผนและมีความก้าวหน้า

การดำเนินงานพันธกิจสัมพันธ์จำแนกตามระดับของพันธกิจสัมพันธ์
         หากจำแนกการดำเนินพันธกิจสัมพันธ์โดยยึดองค์กรชุมชนเป็นหลัก จะสามารถจำแนกการดำเนินงานพันธกิจสัมพันธ์ได้เป็น 3 รูปแบบ คือ การดำเนินพันธกิจสัมพันธ์ภายในมหาวิทยาลัย (Internal Engagement) การดำเนินพันธกิจสัมพันธ์กับหน่วยงานภายนอก (External Engagement) และ การดำเนินพันธกิจสัมพันธ์กับองค์กรชุมชนนานาชาติ (International Engagement) ในที่นี้จะยกตัวอย่างการดำเนินพันธกิจสัมพันธ์ทั้ง 3 รูปแบบ ดังนี้

         1. การดำเนินพันธกิจสัมพันธ์ภายในมหาวิทยาลัย (Internal Engagement)
การดำเนินพันธกิจสัมพันธ์ภายในมหาวิทยาลัย หมายถึง การนำภารกิจของมหาวิทยาลัยมา   บูรณาการการทำงานร่วมกันภายในมหาวิทยาลัยเอง
         2. การดำเนินพันธกิจสัมพันธ์กับองค์กรชุมชนหรือหน่วยงานภายนอก (External Engagement)
มหาวิทยาลัยได้ดำเนินพันธกิจสัมพันธ์กับองค์กรชุมชนหรือหน่วยงานภายนอกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น

1) การนำภารกิจด้านการเรียนการสอนไปดำเนินพันธกิจสัมพันธ์ เช่น การจัดสหกิจศึกษากับสถานประกอบการ และ การจัดการเรียนการสอนในรายวิชาที่ยึดนักศึกษาเป็นศูนย์กลาง ซึ่งมีนิยามครบตามพันธกิจสัมพันธ์เป็นการนำการเรียนการสอนไปร่วมคิดร่วมทำกับ องค์กรชุมชน

2) การนำความรู้ และความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพของคณาจารย์ ไปดำเนินการพันธกิจสัมพันธ์กับองค์ชุมชนภายนอก ตัวอย่างเช่น การทำข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ สมาคมเรือพายแห่งประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 ในการพัฒนาศักยภาพนักกีฬาเรือพายทีมชาติไทย โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมคิดร่วมทำ ร่วมพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาเรือพายทีมชาติไทยมุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับสากล โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งมหาวิทยาลัยมีหลักสูตรการเรียนการสอนอยู่แล้ว เข้ามาช่วยพัฒนาศักยภาพของทีมและนักกีฬา

3) การนำงานวิจัยและนวัตกรรม ไปดำเนินงานพันธกิจสัมพันธ์กับองค์กรชุมชนภายนอก เช่น โครงการบริหารจัดการขยะชุมชนเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนอย่างเป็นระบบและครบวงจร โครงการไก่เนื้อโคราช โครงการโคเนื้อโคราชวากิว เป็นต้น

         3. การดำเนินพันธกิจสัมพันธ์กับองค์กรชุมชนนานาชาติ (International Engagement)
การจัดทำข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากร การทำวิจัยร่วมกัน การแลกเปลี่ยนนักศึกษาสหกิจศึกษานานาชาติ เป็นต้น