พันธกิจ /

ฝ่ายส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม

พันธกิจ

1. บริการร่วมวิจัยและพัฒนา / รับจ้างวิจัยและพัฒนา โดยความร่วมมืออาจอยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น เป็นแบบไตรภาคีระหว่างมหาวิทยาลัย-ภาครัฐ-และภาคเอกชนโดยมีการใช้บุคลากรหรือผู้เชี่ยวชาญ ของภาคเอกชนร่วมกับสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยและพัฒนาของรัฐ หรือ เป็นการจ้างหน่วยงานวิจัยของรัฐให้ทำการวิจัยและพัฒนาตามความต้องการของภาคเอกชนก็ได้
2. การให้บริการจัดหาผู้เชี่ยวชาญ และการบริการให้ปรึกษาทางเทคนิค เป็นการจัดหาผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมและสอดคล้องต่อลักษณะ ของกลุ่มอุตสาหกรรมในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และขีดความสามารถทางนวัตกรรมและทางเทคโนโลยี (Innovation and Technology Capability) โดยมุ่งให้มีการไต่ระดับความสามารถทางเทคโนโลยีของภาคการผลิตสูงขึ้น จากระดับที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor Intensive) ไปสู่การใช้ทักษะเข้มข้น (Skill Intensive) การใช้เทคโนโลยีเข้มข้น (Technology Intensive) และสู่การทําวิจัยและพัฒนาเข้มข้น (R&D Intensive) ตามลำดับ
3. การให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ ได้แก่ การให้บริการวิเคราะห์ทดสอบในเชิงเทคนิคซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนากระบวนการผลิต และการพัฒนาคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ อันจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ในภูมิภาค
4. การถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) โดยการจัดทำฐานข้อมูลโครงการวิจัยที่พร้อมที่จะออกสู่เชิงพาณิชย์หรือพร้อมนำไปดำเนินการวิจัยต่อยอ ตลอดจนการจัดให้มีสถานที่สำหรับการอบรมและสาธิตเทคโนโลยี (Technology Demonstration Area) ทั้งนี้มุ่งให้เกิดการนำเทคโนโลยีไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ตลอดจนนำเทคโนโลยีไปพัฒนาชุมชน โดยการผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่นทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น (OTOP) ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีการออกแบบให้ดึงดูดและปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น
5. การให้บริการในด้านสถานที่ อุปกรณ์และเครื่องมือวิจัย เพื่อให้เอกชนสามารถเข้าถึงเครื่องมือ อุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำวิจัยและพัฒนา โดยการใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Shared Resources) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการลงทุนทางด้านเครื่องมือดังกล่าว
6. การพัฒนากำลังคน โดยกิจกรรมนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ในส่วนแรก สำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยเข้าด้วยกัน โดยการวางแผนร่วมกันเพื่อให้มหาวิทยาลัยผลิตนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน สำหรับส่วนที่ 2 นั้น เป็นการพัฒนาบุคลากรที่จำเป็นในการบริหารจัดการสำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ โดยการร่วมมือกับ สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวของประเทศที่มีประสบการณ์ในการบริหารอุทยานวิทยาศาสตร์ และมีกลไกความร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนาบุคลากรดังกล่าว อาทิ โครงการความร่วมมือกับประเทศเยอรมันผ่านทางหน่วยงาน InWEnt (Internationale Weiterbildung and Entwicklung (Capacity Building International)), Germany ภายใต้โครงการ “Management of Technology and Innovation in South-East Asia” โดยการฝึกอบรมบุคลากรของประเทศไทยให้สามารถจัดตั้งและบริหาร Technology Business Incubator (หน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี) 3 – 4 แห่ง ในประเทศได้ภายในเวลาประมาณ 2 ปี อันเป็นปัจจัยที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ และ/หรือ หน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี