เกี่ยวกับเทคโนธานี /

เกี่ยวกับเทคโนธานี

              เทคโนธานีเป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้การบริหารงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่มีฐานะเทียบเท่าศูนย์ สถาบัน สำนักวิชา จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 มีภารกิจในการให้บริการวิชาการ การส่งเสริมความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การให้คำปรึกษาเบื้องต้น ตลอดจนการนำผลงานวิจัยลงพื้นที่ถ่ายทอด ให้คำปรึกษาเชิงลึก พัฒนาต่อยอดผลงานวิจัย การยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาแก่บุคคลภายนอก ผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของชุมชนและสังคม สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มเป้าหมาย พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

เทคโนธานี มีพันธกิจ 3 ประการ ดังนี้
1.เป็นศูนย์การให้บริการวิชาการ ให้คำปรึกษาแก่ประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ ในการพัฒนาศักยภาพขององค์กรชุมชนและท้องถิ่น ให้มีความรู้ความสามารถในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มผลผลิตและยกระดับองค์กรชุมชนและท้องถิ่นให้เข้มแข็ง
2.เป็นศูนย์ประสานงานการปรับแปลง ถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมไปสู่ภาคการผลิต ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของตนเองอย่างเป็นรูปธรรม
3.เป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อสังคมที่ส่งเสริมการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองต่อความต้องการ ในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน และกลุ่มการผลิตเพื่อให้มีความสามารถในการเลือกรับการถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจในกระบวนการคิด แก้ปัญหาแบบวิทยาศาสตร์ให้กับประชาชนโดยทั่วไป

โครงสร้างบริหารงานเทคโนธานี ประกอบด้วย 5 สำนักงาน ดังนี้
1. ฝ่ายบริหารงานกลาง (Central Administration Division : CAD  : เป็นสำนักงานกลางที่มีหน้าที่บริหารจัดการภายในเทคโนธานีแทนผู้บริหารตามที่ได้รับมอบหมายด้านต่างๆ  เช่น ควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณและรวบรวมผลการปฏิบัติงานตามตัวชี้วัด รายงานผลการดำเนินงานทางด้านการเงิน ควบคุมดูแลรักษาทรัพย์สินของหน่วยงาน บริหารจัดการด้านบุคลากร ประสานงานอำนวยความสะดวกให้ผู้บริหารสามารถปฏิบัติงานได้อย่างสะดวกและคล่องตัว  เป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือกับบุคลากรให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ตามนโยบายของมหาวิทยาลัย และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก

2. ฝ่ายบ่มเพาะธุรกิจและนวัตกรรม(Business & Innovation Incubation Division : BID): ทำหน้าที่ในการสนับสนุน  และส่งเสริมผู้ที่สนใจในการประกอบธุรกิจหรือผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจ โดยอาศัยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัยของมหาวิทยาลัยในการยกระดับเทคโนโลยีของผู้ประกอบการอย่างครบวงจร การสนับสนุนด้านการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ การให้คำปรึกษาเชิงลึกโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง การเสริมสร้างทักษะความเป็นผู้ประกอบการ การวิเคราะห์ทดสอบทางห้องปฏิบัติการ การส่งเสริมด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การออกแบบตราสินค้า/บรรจุภัณฑ์ การส่งเสริมด้านการนำสินค้าออกสู่ตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ รวมถึงสร้างการเชื่อมโยงเครือข่ายของผู้ประกอบการ เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดการก่อตั้งบริษัทใหม่ (Start – up company) จนสามารถเติบโตพร้อมที่จะดำเนินธุรกิจได้ด้วยตนเอง (Spin – off company/Graduate)

3. ฝ่ายส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม(Industry Competitiveness Support Division : ICD): เป็นศูนย์กลางทางวิชาการในการส่งเสริมสภาพความเป็นอยู่ของชุมชน รับผิดชอบในภารกิจการปรับแปลง พัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางด้านการเกษตร การอุตสาหกรรม ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก สร้างเครือข่ายในภูมิภาค การให้คำปรึกษา สนับสนุนส่งเสริมการประกอบธุรกิจด้านต่างๆ ให้มีความมั่นคงและยั่งยืน สนับสนุนส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ประกอบการ ยกระดับเทคโนโลยีการผลิต ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบทางห้องปฏิบัติการ เชื่อมโยงนำผลงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ซึ่งมีหน่วยงานภายใต้โครงสร้าง  บริหารงานที่ทำหน้าที่ให้บริการตามภารกิจที่เกี่ยวข้องด้านต่างๆ

4. ฝ่ายบริการวิชาการและพันธกิจสัมพันธ์กับสังคม (Academic Service and Community Engagement : ASCE) : มีภารกิจในการให้บริการจัดอบรมทั้งหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว การจัดประชุม สัมมนาวิชาการ การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดอบรมหลักสูตรเฉพาะทางพร้อมออกหนังสือรับรอง การจัดสอบวัดความรู้ด้านภาษาอังกฤษ การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน การบริการให้คำปรึกษา บริการข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนและวิสาหกิจชุมชน และผู้สนใจทั่วไป ด้วย วทน.

5. ฝ่ายบริหารนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา (Innovation & Intellectual Property Management Division : IIPM) เป็นสำนักงานที่บริการให้คำปรึกษา จัดอบรม จดทะเบียนเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งการวิเคราะห์ศักยภาพงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญาให้กับอาจารย์ นักวิจัย บุคลากรของมหาวิทยาลัย รวมถึงบุคลากรหรือหน่วยงานภายนอก นอกจากนี้ ยังผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ผ่านการอนุญาตให้ใช้สิทธิ รวมถึงการเป็นตัวกลางในการประสานและเจรจาต่อรองภาคเอกชนที่สนใจผลงานวิจัย การประชาสัมพันธ์งานทรัพย์สินทางปัญญาและงานวิจัยของมหาวิทยาลัย ประสานงานการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างนักวิจัยและภาคเอกชน